ประเด็นร้อน

ปลูกฝัง 'ต่อต้านคอร์รัปชัน' ทำเรื่องยากให้ง่ายผ่านนิทาน-แอนิเมชัน

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 02,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ - -

 

"SIAM-Lab" ชี้ปัจจุบันไทยมีสื่อที่สร้างความเข้าใจในเรื่องต่อต้านคอร์รัปชันแก่เด็กโดยเฉพาะในวัย 0-7 ขวบ ไม่หลากหลายเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แนะแนวทางแก้ไขควรใช้สื่อหลากหลายโดยเฉพาะนิทานและแอนิเมชันเพื่อให้เข้าใจง่าย

 

 

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ผศ.ดร.กุลลินี มุทธากลิน นักวิจัย SIAM-Lab กล่าวในงานเสวนา การศึกษาเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชั่น : จากบทเรียนสู่การปฏิบัติ ในหัวข้อ “สื่อกับการปลูกฝังความเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันในเด็ก กรณีศึกษาของไทย” ถึงการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในไทยว่าส่วนใหญ่มักแก้ที่ปลายเหตุ เน้นการลงโทษโดยใช้กฎหมาย เพื่อปราบปรามคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นแล้วให้ลดน้อยลง

 

แต่ความจริง ควรแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่เด็กและเยาวชนรวมถึงบุคลทั่วไปในสังคม ครอบคลุมถึงการให้การศึกษา ทั้งแบบเป็นทางการในระบบ เช่น โรงเรียน และไม่เป็นทางการนอกระบบ ผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ สิ่งเหล่านี้ ไม่เพียงแค่เป็นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมเท่านั้น ยังถือเป็นการสร้างรากฐานความยั่งยืนในระดับประเทศ นำมาซึ่งการทบทวนสื่อนิทานและวรรณกรรมรวมถึงสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างค่านิยม คุณค่า และจิตสำนึก ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเปรียบเทียบเนื้อหาและรูปแบบของสื่อดังกล่าว

  

สื่อไทยเน้น “ซื่อสัตย์” มากกว่า “ลดคอร์รัปชัน” 
จากการศึกษา พบว่า ในประเทศไทย นิทานและแอนนิเมชันสำหรับเด็กที่ผลิตขึ้นเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชันโดยตรงมีน้อยชิ้น โดยเฉพาะในวัย 0-7 ขวบ เมื่อเทียบกับนิทานและแอนิเมชั่นสำหรับเด็กที่ผลิตขึ้นเพื่อปลูกฝังเรื่องความซื่อสัตย์ ทั้งนี้ การปลูกฝังในเรื่องคุณธรรมด้านความซื่อสัตย์ส่วนใหญ่จะควบคู่ไปกับคุณธรรมด้านต่างๆ เช่น ความรับผิดชอบ ความพอเพียง ความเป็นธรรม จิตสาธารณะ ผ่านตัวละคร เช่น ครู พ่อแม่ หรือพระ และมีการนำเอาพระราชดำรัสในหลวง รัชกาลที่ 9 เข้ามาอธิบายเรื่องความซื่อสัตย์

 

ในส่วนของสื่อแอนิเมชั่นที่สอนเรื่องคอร์รัปชันโดยตรง มักอิงกับสื่อเดิมที่เด็กรู้จัก ได้แก่ ก้านกล้วยกับโตไปไม่โกง และ นิมนต์ยิ้มเดลี่ คนดีไม่คอร์รัปชัน ของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นอกจากนี้ ยังมีโครงการโรงเรียนสีขาว หลักสูตร คบเด็กสร้างชาติ “โตไปไม่โกง” ของศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม นิด้า และองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย


“ฮ่องกง” ใช้เกมปลูกฝังเยาวชน
สำหรับนิทาน และ แอนิเมชัน ที่ใช้ต่อต้านคอร์รัปชันในต่างประเทศส่วนใหญ่มีความหลากหลาย และนำเสนอในหลายแง่มุม มักเน้นให้เด็กมีบทบาทสำคัญในการตั้งคำถามต่อการคอร์รัปชัน หรือมีบทบาทในการกำจัดคอร์รัปชัน โดยการนำสื่อต่างๆ เช่น เกมคอมพิวเตอร์ และภาพวาดการ์ตูนมาใช้ร่วมด้วย โดยเฉพาะในประเทศที่สนใจต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างอินเดีย จีน และอินโดนีเซีย ได้นำเอาการแข่งขันและจัดนิทรรศการภาพวาดแบบการ์ตูนเข้ามาเป็นเครื่องมือสื่อสาร ให้กับเยาวชนและบุคคลทั่วไป

 

ในขณะที่ประเทศฮ่องกง ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านความสามารถในการลดการคอร์รัปชัน ได้สร้างตัวละครเด็ก 4 คน เป็นตัวแทนของเด็กในการต่อต้านการคอร์รัปชัน และนำเสนอในรูปแบบเกมคอมพิวเตอร์ The iTeen Camp ของ Hong kong Inependent Commission Against Corruption (ICAC) เพื่อให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงอายุตั้งแต่ชั้นอนุบาล นอกจากนี้ ยังมี Bribe Buster ในรูปแบบหนังสือและแอนิเมชั่น จัดทำโดย Trace International ประเทศสหรัฐอเมริกา และ หนังสือ Gbagba ซึ่งให้ความรู้ด้านคอร์รัปชันสำหรับเด็กในประเทศไลบีเรีย

 

“รูปแบบ-แง่มุม” ควรหลากหลาย 
ทั้งนี้ ผศ.ดร.กุลลินี เผยถึงข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งนี้ว่า การใช้สื่อต่างๆ เช่น นิทาน และ แอนนิเมชันในประเทศไทย ที่ถือเป็นสื่อหลักในการปลูกฝังคุณธรรมความซื่อสัตย์ และการต่อต้านคอร์รัปชัน ควรเน้นย้ำบทบาทของเด็กในการต่อต้านการคอร์รัปชันให้มากขึ้น รวมไปถึงการสร้างสมดุลในแนวทางการอบรมสั่งสอนแบบบนลงล่าง โดยให้น้ำหนักกับการมีการคิดอย่างวิพากษ์และแก้ปัญหาของเด็ก เพื่อช่วยให้เด็กได้เรียนรู้จากการใช้วิจารณญานของตนเอง ผ่านการชี้ให้เห็นถึงสาเหตุ ทางเลือกต่างๆ ของการกระทำ รวมถึงผลกระทบของการกระทำที่ไม่ซื่อตรงหรือคอร์รัปชัน

 

นอกจากนี้ ยังควรนำเอามิติวิธีคิดแบบพุทธศาสนา แบบที่เรียกว่า วิภัชชวาชมาใช้ คือการมองและแสดงความจริงโดยแยกแยะออกให้เห็นแต่ละแง่ แต่ละด้าน ให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยไม่จับเอาแง่ใดแง่หนึ่ง หรือบางแง่ขึ้นมาวินิจฉัย หรือประเมินคุณค่าของความดี ความชั่ว โดยถือเอาส่วนเดียวหรือบางส่วนเท่านั้น และควรเพิ่มเติมสื่อในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้เข้าถึงและเหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัยอีกด้วย

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw